เช็กสัญญาณ ว่าเรากำลังเป็นโรคทนรอไม่ได้อยู่หรือเปล่า

เช็กสัญญาณ ว่าเรากำลังเป็นโรคทนรอไม่ได้อยู่หรือเปล่า

การรออะไรสักอย่างแล้วรู้สึกร้อนใจ หงุดหงิดถือเป็นอารมณ์ปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงบางจังหวะของชีวิต แต่สำหรับบางคนอาจไม่ใช่อย่างนั้น เพราะก็มีคนบางส่วนที่ใจร้อนมาก รออะไรนานหน่อยก็จะฉุนเฉียวได้ง่าย เหมือนอะไรก็ไม่ทันใจไปซะทุกอย่าง ซึ่งรู้หรือว่าไม่ว่าอาการเป็นนั้นคือโรคทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่ วันนี้เรามาสัญญาณของโรคทนรอไม่ได้มาให้ได้ลองสำรวจตัวเองดูกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย

โรคทนรอไม่ได้คืออะไร

Hurry Sickness จริง ๆ ก็ไม่จัดว่าเป็นอาการป่วยหรือโรค แต่เป็นคำนิยามถึงพฤติกรรมหรือลักษณะอาการของคนที่มักจะรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว มีความกังวลเกินกว่าเหตุ หรือดูรีบไปซะทุกอย่าง แม้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเลยก็ตาม

โดยคนที่ให้คำจำกัดความคำว่า Hurry Sickness ก็คือ Meyer Friedman และ Ray Rosenman แพทย์โรคหัวใจ ที่ร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนกรุ๊ป A กับเรื่องหัวใจ (Type A Behavior And Your Heart) และโด่งดังมากในปี 1974 โดยหนังสือก็บอกเล่าพฤติกรรมอันซับซ้อนของคนกรุ๊ปนี้ และภาวะทนรอไม่ได้(Hurry Sickness) ก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่คนกรุ๊ป A มักจะแสดงออกด้วย

โรคทนรอไม่ได้อ อาการเป็นอย่างไร

ลักษณะอาการของคนเป็นโรคทนรอไม่ได้ มักจะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • รีบไปซะทุกอย่าง ทุกกิจกรรมที่ทำ เหมือนชีวิตแข่งกับเวลาตลอด
  • จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้นาน แต่จะชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน
  • รู้สึกรำคาญหรือหงุดหงิดมาก หากเจอสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีความล่าช้า
  • มักรู้สึกว่ามีเวลาไม่พอ เพราะในแต่ละวันจะทำอะไรหลายอย่างมาก ๆ
  • ชอบขัดจังหวะ หรือพูดแทรกขึ้นมาในขณะที่คนอื่นกำลังพูดอยู่
  • เสพติดอยู่กับการเช็กลิสต์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน และหากไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ก็จะหัวเสียหรือรู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก
  • เมื่อต้องต่อคิวก็จะเลือกแถวที่สั้นที่สุด แม้จะต้องเปลี่ยนแถวไป ๆ มา ๆ ก็ตาม
  • เมื่อเจอรถติดจะพยายามหาวิธีแทรกไปอยู่ด้านหน้า หรือทำทุกอย่างให้ได้ออกตัวเร็ว ๆ
  • บ่อยครั้งที่รีบจนใส่เสื้อผ้ากลับด้าน หรือใส่รองเท้าสลับคู่กัน
  • คิดหาวิธีประหยัดเวลาชีวิตแทบจะตลอด

โรคทนรอไม่ได้ อันตรายไหม

แม้จะดูจากอาการแล้วไม่ค่อยน่ากังวลอะไร ทว่าหากปล่อยให้ความกังวลเกิดขึ้นทุกครั้งที่เจอเรื่องไม่ทันใจ หรือเครียดสะสมมาเรื่อย ๆ เป็นเวลานานก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อย เช่น

  • หายใจไม่ทัน คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง หัวใจเต้นเร็วหากเครียดจัด ๆ
  • นอนไม่หลับ
  • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
  • อ่อนเพลียเพราะวิ่งวุ่นทั้งวัน
  • ปวดศีรษะ
  • ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสุขภาพตัวเองจนภูมิต้านทานต่ำลง
  • อาจมีปัญหาความดันโลหิตสูง
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยมีปัจจัยคือความเครียดและความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องเป็นแรงกระตุ้น

โรคทนรอไม่ได้ วิธีแก้อย่างไร

  • เมื่อรู้สึกกังวลกับการต้องรออะไรบางอย่าง ให้ลองออกไปเดินสูดอากาศ เดินช้า ๆ เรื่อย ๆ เพื่อสงบจิตใจ
  • สูดลมหายใจลึก ๆ พร้อมเรียกสติให้ค่อย ๆ ทำไปทีละอย่าง
  • พยายามปรับทัศนคติว่าทุกอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และลองจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำซะใหม่
  • แบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อน ได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ ได้กินอาหารครบมื้อ และมีเวลาออกกำลังกายบ้าง
  • หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสงบลง เช่น เล่นเกมฝึกสมองในสมาร์ตโฟน นั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือฟังเพลงผ่อนคลายความกังวล เป็นต้น
  • ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง อันไหนที่ทำไม่ทัน ทำไม่ไหวให้ขอความช่วยเหลือดู
  • พยายามคิดบวกเข้าไว้ เช่น แม้วันนี้จะทำตามเป้าไม่ได้ แต่เราก็ยังมีเวลาในวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป
  • เรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจว่าเรามีข้อจำกัดของตัวเอง และข้อจำกัดของเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมาก ๆ

แหล่งที่มา : health.kapook.com