กินส้มตำลดความอ้วนได้จริงหรือไม่

กินส้มตำลดความอ้วนได้จริงหรือไม่

ส้มตำ ถือเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย วันไหนนึกอะไรไม่ออก หรืออยากกินอะไรที่มีรสชาติจัดจ้าน หลายคนมักนึกถึงส้มตำเป็นอันดับแรก ซึ่งส้มตำนั้นไม่ได้มีดีแค่เรื่องรสชาติความอร่อยเท่านั้น แต่ในหมู่คนลดน้ำหนัก ส้มตำถือเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่หลายพูดกันว่าสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ แต่หลายคนก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าส้มตำนั้นจะช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่ วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

ประโยชน์ของส้มตำ

ส้มตำเป็นเมนูที่มีผักและสมุนไพรอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะละกอดิบ พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ผลมะกอก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะเขือ และยังมีผักสด เช่น ผักบุ้งนา กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว หรือยอดกระถิน เป็นผักแกล้มอีก ซึ่งประโยชน์ของผักต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีไฟเบอร์สูง มีสรรพคุณทางยา ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัยได้

นอกจากนี้ ปู กุ้งแห้ง หรือปลาร้า ที่ใส่ลงไปในส้มตำ ก็เป็นเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนและแคลเซียม แต่ทั้งนี้ควรเลือกกินปู ปลาร้า หรือกุ้งที่ทำให้สุกแล้ว และเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน จึงควรกินส้มตำควบคู่กับอาหารอื่น ๆ ด้วย เช่น ข้าวเหนียว ขนมจีน ไก่ย่าง หรือลาบต่าง ๆ ซึ่งมีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้อิ่มท้อง

กินส้มตำลดความอ้วนได้จริงไหม

ส้มตำ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 120 กิโลแคลอรี ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาหารแคลฯ ต่ำ แต่หากกำลังลดน้ำหนักอยู่ควรบอกแม่ค้าไม่ใส่ปู ถั่วลิสง และลดหวาน ลดเค็มด้วยจะดีมาก และไม่ควรกินส้มตำทุกมื้อ ทุกวัน เพราะแม้จะเป็นอาหารแคลฯ ต่ำ

แต่ในอีกมุมหนึ่งส้มตำก็เป็นอาหารที่โซเดียมสูงพอตัว ทั้งโซเดียมจากน้ำปลา ปูเค็ม กุ้งแห้ง และผงชูรสแบบจัดหนัก แล้วไหนจะปริมาณน้ำเชื่อม น้ำตาลปี๊บอีก ปัจจัยเหล่านี้แหละที่อาจทำให้ตัวบวมน้ำและน้ำหนักตัวขึ้นได้ ดังนั้นถ้ากำลังลดความอ้วนอยู่ กินส้มตำเพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็พอ หรือหากกินส้มตำปูดองเค็มก็กินเพียงสัปดาห์ละครั้ง

ป่วยโรคไหนควรระวังส้มตำ กินมากอาจซ้ำเติมโรคได้

ท้องเสีย ท้องร่วง

ส้มตำมักจะใส่วัตถุดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคจากอาหารดิบก็มีมาก และส้มตำยังเป็นอาหารรสจัด ทั้งเปรี้ยว เผ็ด เค็ม รสชาติเหล่านี้อาจกระตุ้นระบบขับถ่ายของร่างกายได้ อาการท้องเสีย ท้องร่วงที่เป็นอยู่ก็อาจหนักขึ้นด้วย

โรคเบาหวาน

แม้ส้มตำจะมีรสชาติแซ่บ จัดจ้าน แต่เมนูนี้ใส่น้ำตาลเยอะพอตัวเลยนะ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องคุมน้ำตาลในเลือดควรระวังการกินส้มตำจะดีกว่า หรือถ้าอยากรับประทานก็จำกัดปริมาณให้ไม่มากจนเกินไป โดยอาจปรึกษาแพทย์ก็ได้ว่าสามารถรับประทานส้มตำแบบไหนถึงไม่กระทบกับสุขภาพและระดับน้ำตาลในเลือด

หญิงตั้งครรภ์

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี พยายามกินอาหารน้ำตาลต่ำ รวมทั้งอาหารโซเดียมต่ำด้วย โดยอาจจะลองปรึกษาสูตินรีแพทย์ก็ได้ว่ากินส้มตำได้มาก-น้อยแค่ไหน เพราะสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก็จะได้ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด

โรคไต

อย่างที่บอกว่าส้มตำเป็นอาหารรสจัด มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่ควรระวังโซเดียมก็ไม่ควรกินส้มตำบ่อยจนเกินไป

โรคความดันโลหิตสูง

ปริมาณโซเดียมที่มากเกินไปอาจส่งผลกับระดับความดันโลหิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ก็ต้องระมัดระวังอาหารโซเดียมสูงอย่างส้มตำไว้ด้วย

โรคหัวใจ

อีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่ควรหลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง และควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะทั้งโซเดียมและน้ำตาลในเลือดต่างก็มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งสำคัญกับการทำงานของหัวใจ ดังนั้นพยายามดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อให้หัวใจทำงานได้อย่างปกติสุขจะดีกว่า

แหล่งที่มา : health.kapook.com